20 หลักการ MOΝΕΥ ΜΑΝAGEMENT และแนวทางการเทรด

Image
สรุป MOΝΕΥ ΜΑΝAGEMENT และแนวทางการเทรด (ไม่ทราบที่มาของหนังสือ โหลดจากทวิตเตอร์) รายการต่อไปนี้เป็นการรวบรวมองค์ประกอบที่สำคัญส่วนใหญ่ของการจัดการเงินและการเทรดไว้ด้วยกัน 1. เทรดตามทิศทางของแนวโน้มระดับกลาง 2. ในแนวโน้มขาขึ้น-ให้ซื้อตอนย่อ  ส่วนในแนวโน้มขาลง-ให้ขายชอร์ตเมื่อราคาเด้ง 3. จงทนรวยให้ให้ผลกำไรเติบโต ตัดการขาดทุนให้เสียน้อย 4. ใช้การตัดขาดทุนที่วิ่งตามราคาเพื่อจำกัดขนาดการสูญเสีย 5. อย่าซื้อขายอย่างหุนหันพลันแล่น 6. วางแผนการซื้อและขายและทำตามแผนของคุณ 7. ใช้หลักการบริหารเงิน 8. กระจายความเสี่ยง แต่อย่ากระจายมากเกินไป 9. ใช้อัตราส่วนรางวัลต่อความเสี่ยงอย่างน้อย 3 ต่อ 1 10. เมื่อพีระมิด (ซื้อเพิ่ม) ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ ก. ไม้ต่อไปควรมีขนาดเงินที่เล็กกว่าเดิม ข. เพิ่มเฉพาะตำแหน่งที่ชนะเท่านั้น ค. อย่าเพิ่มตำแหน่งที่ขาดทุน ง. ยกระดับตัดขาดทุนไปวางที่จุดคุ้มทุน 11. อย่าเทรดประมาทจนถึงขั้น Marfin call;  อย่าเสียเงินเพิ่มหลังจากเคยเสียหนักมาแล้วครั้งหนึ่ง(อย่ารีบเทรดเอาคืนหลังจากที่แพ้ยับเยินสด ๆ ร้อน ๆ) 12. ขายหุ้นที่คุณคิดผิด(ขาดทุน) ก่อนหุ้นที่คุณคิดถูก(ได้กำไร) 13. ถ้า

วิธีแก้โรค FOMO กลัวตกรถ หุ้น

วิธีแก้โรค FOMO กลัวตกรถ หุ้น


ผมขอสารภาพออกสื่อให้รู้ทั่วกันว่า...
ตอนนี้ผมเป็นโรค "FOMO" อย่างร้ายแรงมากครับ
มันเป็นโรคไม่ติดต่อที่ร้ายแรงมาก มันทำลายพอร์ตของผมได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ส่วนหนึ่งที่ผมทำเงินจาก 2 ล้าน จนเหลือ 2 แสนก็มาจากโรคนี้แหละ



ตอนแรกๆผมหาหุ้นเองไม่เป็นครับ กูรูหุ้นที่ออกทีวี พวกเขาพูดจาน่าเชื่อถือมากครับ แต่ปัญหาคือพวกเขาแนะนำให้เล่นหุ้นใหญ่ๆ ผมก็คิดว่าน่าจะได้กำไรน้อยเกิน ไม่คุ้มกับเป้าหมายรวยร้อยล้านแน่ๆ จึงพยายามหาข่าวหุ้นตัวเล็กๆที่มีการระแคะระคายว่าน่าจะมีข่าวดี ทั้งจากเพื่อนๆเจ้าของเพจ และกูรูใบ้หุ้นให้รากหญ้า พอได้หุ้นแล้วรีบเข้าซื้อตอนที่คนยังไม่เห็น

และบ่อยครั้งที่ผมชอบหาหุ้นจาก top gainer เพราะคิดว่าเป็นหุ้นเจ้าเข้า พร้อมวิ่ง หากเราเข้าทันก็จะทำเงินได้เร็ว ซึ่งเห็นตัวอย่างจากการโชว์กำไรมากมายในเว็บ

ปัญหาก็คือ บ่อยครั้งที่ซื้อตามพวกเขา ราคาหุ้นกลับไม่ยอมวิ่งขึ้นเลย มันร่วงสวนทางตลอด ซึ่งผมก็ยังไม่เอะใจอะไร มองที่เป้าหมายราคาเท่านั้น จึงทนถือ ยิ่งถือก็ยิ่งขาดทุน กว่าจะได้ตัดใจขาย ก็ตอนที่ SET ร่วงแรง หุ้นก็ลงแรงตาม ต้องขายเพราะความกลัว

หรือเคยมีความเชื่อว่าหุ้นที่ราคาลงมาต่ำๆและนอนก้น มันกำลังอยู่ในช่วงสะสม อีกไม่นานมันก็ต้องวิ่ง จึงรีบเข้าไปซื้อดักเอาไว้ตั้งแต่มันยังซึมๆ ผลก็คือผ่านมาหลายเดือนมันก็ยังซึม และไม่ซึมเปล่า เสือกร่วงลงไปต่ออีก แม้จะดูเหมือนว่าช่องเดียว แต่ดูสิครับ หุ้นเศษสลึงแต่ละ bid กับ offer มันมีคนตั้งเป็นร้อยล้านหุ้น เวลาซื้อผมต้องซื้อ offer เพรากลัวไม่ได้หรือขี้เกียจรอ ก็คือจำเป็นต้องเข้า 0.05(ราคา offer)  แต่พอมันลงมาแค่ช่องเดียว หากอยากขาย ก็ต้องยอมปล่อยที่ bid เท่านั้น เพราะขี้เกียจรอขายที่ offer ซึ่งตอนนี้ก็คือราคา 0.03 ต้องขาดทุนถึง 40% เลยทีเดียว
และบ่อยครั้งที่ซื้อไปสักพัก เมื่อราคาไม่ไปไหน มุมมองเริ่งเปลี่ยนเป็นไม่ชอบ ก็ต้องขายออกไป
นั่นไง มหกรรรมเผาแบงค์เล่น ขาดทุนหนักแบบไม่สมควรอีกแล้ว

ครั้นพอผมหาหุ้นได้เองแล้ว รู้เทคนิคอลแล้ว ไอ้อาการ FOMO ก็ยังตามมาหลอกหลอนอีก
ผมเข้าผิดจังหวะครับ ไม่ว่าจะซื้อก่อนหรือไม่ก็ไล่ราคาตาม
ที่มา StockCharts.com

ยกตัวอย่างจากภาพ ผมมักจะรีบซื้อตั้งแต่ "ซื้อ 1" เพราะอยากได้ก่อน ต้องการได้ของทุนราคาถูก
หรือไม่ก็เข้าช้าไป "ซื้อ 2" เพราะกลัวตกรถ
แทนที่จะกำไรจากหุ้นดีๆ ก็ต้องตกใจขายหนีตายไปเสียทุกครั้งสิน่า
คือรู้ว่ามันเป็น cup with handle แต่ก็ไม่วายมีอคติ อยากได้ก่อน หรือเพิ่งสแกนเจอก็รู้ว่าสายไปแล้ว แต่ก็อดใจไม่ให้ซื้อตาม


อย่าง gap ก็เหมือนกัน รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ใช่ breakway gap แต่ก็ห้ามใจตัวเองไม่ให้ตามไม่ได้ ผลก็คือต้องได้ขายขาดทุนไปอีกจนได้


อีกเคสก็คือ RSI oversold ชอบนัก เห็นเมื่อไหร่ต้องรีบเข้าซื้อเพื่อดัก ผลน่ะรึ ยังมีโคตร oversold รออยู่อีก ก็ต้อง stop loss เสียเงินไปอีก ...เฮ้อ!!!

จากความผิดพลาดครั้งนี้ ผมได้พบความจริงอีกว่า
แค่มีความรู้เทคนิคอล มีระบบการเทรด ยังไม่พอ 
ผมต้องให้ความสำคัญต่อสภาพจิตของตัวเองด้วย 
เพราะรู้ทั้งรู้ว่าทรงมันได้ จำ pattern แม่น นับเวฟเก่ง ฯลฯ
แต่ถ้าหากใจเรายังไม่นิ่ง คุณก็สามารถพลิกโอกาสให้เป็นวิกฤติแบบไม่น่าเชื่อ

ที่มา http://www.wilyeo.com/post/trading-psychology-how-you-can-improve-your-trading-results

มันเป็นอย่างนี้บ่อยมากครับ ตอนนี้ผมก็พยายามบังคับตัวเองไม่ให้อาการนี้กำเริบ เพราะไม่อยากเอาแบงค์พันมาเผาเล่นอีก จึงพยายามหาสาเหตุ ที่มาที่ไป เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขอยู่ครับ

ซึ่งเท่าที่ผมหาข้อมูลมา ก็ได้รายละเอียดคร่าวๆดังนี้...

โรค FOMO คืออะไร?
มันย่อมาจาก Fear Of Missing Out แปลเป็นไทยว่า "กลัวตกรถ" เป็นอาการ "มือลั่น" ซื้อหรือขายเพราะเกิดเหตุการณ์หรือรับข่าวสารที่กระตุ้นให้ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างทันที



ตัวกระตุ้นให้เกิดโรค FOMO
๑) คุณ คุณ และผมเท่านั้น
มันเป็นปม เป็นกลไกในใจมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่เด็กเราเห็นเพื่อนได้อะไร ก็อยากได้ด้วย แม้แต่ตอนโต เพื่อนมีบิ๊กไบค์ ฉันก็ต้องมีด้วย อะไรก็ตามที่คนทำกันเยอะๆ คุณก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
สมองของเรา มีกลไกกระตุ้นให้กล้า และกลัวอยู่ในตัวครับ ถ้ามีเหตุการณ์พิเศษที่ทำให้เรารู้สึกถึงโอกาส ก็จะไม่รีรอที่จะเข้าร่วม และถ้าหากมีสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจ กลไกการป้องกันตัวก็จะเกิดโดยอัตโนมัติ

โลภ : เมื่อคุณมาเป็นนักเล่นหุ้น ก็อยากได้กำไรตลอดเวลา อยากทำเงินให้ได้ทุกนาที เมื่อเห็นหุ้นตัวหนึ่งวิ่งแรงๆคุณก็อดให้ความสนใจและซื้อตามไม่ได้ เพราะลึกๆผมเชื่อว่ามันต้องมีอะไรดี ไม่งั้นคนอื่นคงไม่ไล่ซื้อกันแน่ๆ และอยากมีส่วนร่วม นี่แหละคือที่มาของคำว่า "แมงเม่า" เพราะเห็นแสงไฟ เห็นไปกระพิบเขียวๆเป็นพรืดไม่ได้ ต้องตามไล่ซื้อ
ดังนั้น เราอย่าไปห้ามมัน อย่าไปกดมันครับ ปล่อยให้มันเกิด แต่อย่าให้ความสำคัญมัน อย่าไปไล่ซื้อถ้าทรงการวิ่งของมันไม่เข้าทาง ไม่เข้าสูตรของเรา

กลัว : ไม่เฉพาะแค่สีเขียวเท่านั้น สีแดงเป็นพรืดก็มีส่วนให้ผมเกิดกังวล อยากขายตามไม่น้อย เพราะมันเป็นเหมือนจิตวิทยารวมหมู่ คนอื่นเขากลัวกัน มันต้อมีอะไรแน่ ฉันก็ไม่ควรอยู่เฉย อาการ FOMO ก็กำเริบทันที ณ บัดนั้น

๒) เงินเหลือ
อย่าให้เงินเหลือเลยเชียว มันอยากซื้อไปหมด เห็นอะไรเป็นโอกาสอยู่ตลอด
ถ้าคุณเป็นคนที่ขาดความยับยั้งชั่งใจอย่างผมด้วยล่ะก็ เดี๋ยวก็อดใจไม่ไหว "มือลั่น" เข้าไปซื้อจนได้
นี่แหละคือที่มาของคำว่า "คัน" เพราะเห็นอะไรเขียวๆไม่ได้ อยากซื้อ อยากช็อปไปเสียทุกตัว

"หากคุณซื้อแต่ของที่ไม่จำเป็น อีกไม่นานคุณก็จะต้องขายของที่จำเป็นออกไป" ปู่บัฟเฟตต์ บอกไว้ตรงเป๊ะเลย หุ้นที่คุณซื้อเพราะอาการ FOMO มักจะสร้างความเสียหายให้กับคุณเสมอ เพราะถ้าเกิดมันทำให้ขาดทุนขึ้นมา หากคุณไม่กล้าขาย เพราะพยายามหาเหตุผลให้ทนถือ(ตอนนี้ล่ะขยันหาเชียว) พอได้มายืนยัน ต่อมาก็คืออยากซื้อเพิ่ม เพราะราคาลงมาเยอะ ซึ่งคุณก็ต้องขายหุ้นกำไรดีๆ วิ่งขึ้นสวยๆออกมา เพื่อซื้อถัวหุ้นขาลงที่ซื้อเพราะ FOMO นั่นแหละครับ ความชิบหายได้กลายร่างมาเป็นเงาคุณแล้ว

๓) สื่อ กูรู ทีวี วิทยุ และออนไลน์



ท่านคงเคยเห็นกลยุทธ์ขายของทางทีวีสไตล์ จอร์จ และซาร่าห์ กันมาแล้ว กับประโยค 
..."แต่เดี๋ยวก่อน!!! ถ้าคุณซื้อตอนนี้ เราจัดให้คุณไปเลย xxx บาทเท่านั้น เฉพาะ 100 สายแรก"
(ท่านสามารถอ่าน ชำแหละเทคนิคของจอร์จ-ซาร่า ได้ที่นี่)
ซึ่งท่านรู้หรือไม่ว่าประโยคที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของ "การปิดการขาย" ที่เซลส์แมนอาชีพเขาทำกัน ซึ่งมันเป็นการอาศัยจุดอ่อนของมนุษย์มาใช้กระตุ้น "ความอยากซื้อทันที" ให้เป็นประโยชน์อย่างแยบยล และมันก็ใช้งานได้ดีมาก



ที่มา https://www.facebook.com/kaohoononline/

ซึ่งมันก็ไม่ได้มีแค่ในโลกของสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น วงการหุ้นก็มี สื่อ กูรูหุ้น(รากหญ้า-ชอบใบ้หุ้น) พวกนี้จะมีความสามารถพิเศษในการปลุกกระตุ้นความโลภในใจของนักเล่นหุ้นหน้าใหม่ได้มืออาชีพมาก โดยพวกเขาไม่บอกตรงๆหรอก แต่จะใช้คำที่ทำให้พวกเรา "คิด(เอง)ไปไกล"

ยังไง? ดูคำต่อไปนี้...
"IRPC ประกาศงบวันนี้ จับตากำไรพุ่งหมื่นล้าน" โอ้โห นี่มันสุดยอดเบาะแสเลย เม่าไม่รู้เรื่อง ไม่ทำการบ้าน เห็นข่าวนี้ ต้องรีบเข้าไปต่อคิวตั้งซื้อ ATO ทันทีเลย
คำประเภทที่ว่า "กำไรโตหมื่นล้าน" เป็นการกระตุ้นต่อมอยากซื้อให้กับแมลงเม่าอย่างมากครับ เพราะพวกเขาเชื่อสนิทใจว่ามันเป็นข่าวดีมากๆ ซึ่งสาธารณะเพิ่งรู้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือพวกเขายังมโนต่อไปอีกว่า ไตรมาสหน้า ปีหน้าต้องทำได้อีก ซื้อตอนนี้ได้ราคาถูกมาก แม้ว่าซื้อไปแล้วจะโดนยัดของใส่มือ ก็ยังเชื่อว่าเดี๋ยวก็ได้กำไรอีก แต่ปัญหาก็คือบ่อยครั้งที่กำไรมหาศาลพวกนี้มันเป็นกำไรพิเศษ มีครั้งเดียวเท่านั้น

ที่มา https://www.mitihoon.com/2018/03/08/19612
"ARROW พ้นจุดต่ำสุด ชิงงานรัฐ ชี้เป้า16.30บ." ประโยคทรงนี้ถูกใช้บ่อยมาก เพราะเม่าส่วนใหญ่ชอบซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดครับ คำว่า "พ้นจุดต่ำสุด" นี่เป็นคำศักดิ์สิทธิ์สำหรับผมเลย แถมยังชี้เป้าอีกต่างหาก ถ้าเขาเช็คราคาในตอนนั้นราคา 11 บาท พวกเม่าจะคำนวนกำไรทันทีเลยว่าได้ร่วมๆ 50% จึงไม่คิดอะไรมาก เพราะโอกาสเสียน้อยมาก(พ้นจุดต่ำสุด) มันไม่มีทางลงต่ออีกแล้ว และไม่มีเหตุผลที่มันจะไม่ขึ้น เพราะข่าวออกมาขนาดนี้ ถ้ารายใหญ่ได้อ่านเขาต้องซื้อแน่ๆ
ผลก็คือ......
ที่มา siamchart.com

"หุ้นที่เป็นขาขึ้น มันยังมีโอกาสขึ้นได้อีก
หุ้นเป็นขาลง มันยังจะลงต่อได้อีก"
จำประโยคนี้ไว้ให้ดีเลยครับ

อีกคำที่กระตุ้นต่อม FOMO ให้ลุกโชนได้ คือ "ซ่อนมูลค่า"

'CHOW' หุ้นร้อนซ่อนมูลค่า - ทันข่าวทันหุ้น
หุ้นฮ็อต!! BWG ขยะร้อนซ่อนมูลค่า!! ลุ้น COD โรงไฟฟ้า 9 MW ครึ่งหลังปีนี้ ขณะที่ราคากระดานยังไม่สะท้อนข่าวดี
CGH : จับตัวแม่ไว้ให้ดี เพราะถือลูกซ่อนมูลค่าไว้เพียบ - มิติหุ้น

คำว่า "ซ่อนมูลค่า" มันกระตุ้นอารมณ์ยังไง?
ก็สร้างความรู้สึกว่า "สิ่งนี้คนอื่นยังไม่รู้" (ทั้งที่จริงเมื่อมันออกสื่อขนาดนี้ มนุษย์ต่างดาวยังรู้เรื่องเลย ขอโทษ) แต่เม่ายังสามารถหลอกตัวเองว่าฉันรู้ก่อนใคร จึงเข้าซื้อ ผลก็คือราคามันไม่บวก กลับร่วงลง เม่าก็ยังไม่วายมโนต่อว่า คนอื่นยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ฉันรู้คนเดียว ฉะนั้นซื้อซื้อเพิ่มดีกว่า
"ราคากระดานยังไม่สะท้อนข่าวดี"  โอ้โห แสดงว่าตอนนี้ยังถูกอยู่น่ะสิ ฉันต้องรีบซื้อ ก่อนที่ใครๆจะรู้ข่าวนี้กัน พระเจ้า...รายใหญ่ตาบอดกันหรือไง...ฉันช่างโชคดีอะไรอย่างนี้
นั่นไง..ลางหายนะทำลายพอร์ตมาอีกแล้ว



มาดูแนวคิดของฝรั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง
ที่มา Medium.com

FOMO หรือ (Fear Of Missing Out) เป็นโรคที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องเป็น หากในโลกจริงทุกคนต้องเคยเป็นหวัดกันอยู่แล้ว โลกของการเทรดทุกคนก็ต้องเป็นโรค FOMO กันไม่ต่างจากโรคหวัด
เพราะ FOMO หรือ (Fear Of Missing Out) แปลเป็นไทยว่า ความกลัวตกรถ จนทำให้เกิด panic buy และ panic sell ซึ่งมันเป็นตัวผลักดันให้เราตัดสินใจซื้อและขายผิดจังหวะ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายให้กับเงินต้นของเรา เพราะอีกไม่นานก็ต้องได้ stop loss ออกไป

ในมุมมองของผมนะ FOMO ถือเป็นอีกสาเหตุใหญ่ที่คอยลดทอนเงินต้นของนักเทรดมือใหม่ให้หดหายไปทีละนิด แม้บางท่านอาจจะมี limit loss รู้จัก stop loss แต่ถ้า stop บ่อย ก็กินทุนแบบน้ำหยดลงหินได้เช่นกันครับ ดังนั้น ถ้าเรารู้จักมัน และมีวิธีการป้องกัน ก็น่าจะช่วยรักษาเงินต้น(ที่หามาอย่างยากลำบาก)ของเราไว้ได้มหาศาลเลยครับ


อันตรายของโรค FOMO
ความกลัวในการตกรถ ทำให้ต้องรีบซื้อหุ้นนตามการเคลื่อนไหวที่รุนแรงนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อเทรดเดอร์ ๒ ข้อ ดังนี้
๑) สถานเบา คือนำไปสู่การเทรดที่มีระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ต่ำลง เพราะถ้านักเทรดคนนั้นยึดมั่นกับการ stop loss รู้ตัวไวว่าทำผิดพลาดลงไปแล้ว รีบถอนตัว เขาก็จะเสียหายน้อย

๒) แต่ในบางกรณีอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อพอร์ตการลงทุนและอาชีพของนักเทรดคนนั้น เพราะว่าพวกเขาไม่มี stop loss หรือมีอยู่แต่ก็หน้ามืด ไม่ยอมแพ้ อยากเอาคืน ไม่ยอมขายขาดทุน หนักกว่านั้นก็คือเอาเงินก้อนใหม่มาซื้อถัวเฉลี่ยเพิ่มอีก

แรงผลักดันที่ทำให้เกิดโรค FOMO ก็สืบเนื่องมาจากพวกเขาปรารถนาที่จะจะประสบความสำเร็จในการเทรดเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะก่อนหน้านั้นพวกเขาขาดทุนมาก่อนอย่างมีนัยยะ หรือแม้กระทั่งพวกเขาเป็นเทรดเดอร์หน้าใหม่หมาดที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในหุ้นเพื่อหวังกำไรอย่างมหาศาลในช่วงเวลาไม่กี่วัน ซึ่งจากแรงผลักดันแบบนี้แหละที่มันสร้างแรงกระตุ้นที่มากเกินไป จนส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานเกี่ยวกับการหาข้อมูล การทำการบ้าน การวิเคราะห์ที่รอบด้าน ลดลง และยังส่งผลกระทบจากนั้นได้อีกมากมาย ดังนี้

๑) เสพติดการเฝ้าหน้าจอ
เพราะว่าพวกเขาต้องการไม่ให้ตัวเองพลาดโอกาสดีๆที่ตลาดได้มอบให้ เขาจึงต้องเฝ้าดูติ๊กเกอร์เพื่อสอดส่ายสายตาหาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เพื่อที่จะได้เข้าหุ้นให้ทันตามกระแส แต่ปัญหาก็คือว่าการที่พวกเขารีบเข้าจนเกินไปจนไม่มีการวางแผน ทำให้ต้องละเลยในเรื่องของ risk reward ratio ที่ดี และจุดเข้าที่เหมาะสม

๒) ไม่กล้าขาย
ไม่กล้าขายเพราะกลัวขายหมู หรือกลัวโดนเขย่า จริงๆแล้วนั่นไม่ใช่สาเหตุหลักหรอก สิ่งที่เค้ากลัวแท้จริงก็คือ "กลัวเสียใจ หรือ กลัวผิดหวัง" จึงทำให้เขาหลีกเลี่ยงการกระทำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ บางคนถึงกับเลื่อนจุด stop loss หรือทนถือหุ้นที่ขาดทุนยาวกว่าเดิม หรือไม่กล้าขายทำกำไรในจังหวะที่เหมาะสมควรขาย ก่อนที่ตลาดจะกลับตัวเปลี่ยนทิศ
"ความหวัง" จึงเป็นสิ่งที่เขาใช้เป็นกลยุทธ์และเป็นตัวสนับสนุนให้เขาทนถือหุ้นนั้นเอาไว้

๓) ขาดความสามารถในการอดทน
ใครก็ตามที่ใจร้อนในการเทรด มักจะได้รับผลตอบแทนที่เลวร้ายเสมอ การเข้าซื้อและขายผิดจังหวะก็คือสิ่งที่มักจะเกิดกับพวกเขาเพราะความใจร้อนนี่แหละอาจจะเกิดจากการที่ซื้อขายบ่อย หรือแม้กระทั่งบางคนถึงกับเข้าขั้น all-in หรือใกล้เคียงกับการ  all-in เลยก็มี ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าพวกเขาเริ่มหน้ามืดตามัว ไม่สนใจการเทรดที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยง หรือไม่สนใจต่อการไหลของตลาด รวมถึงความผันผวนของเหตุการณ์ในวันข้างหน้าด้วย

๔) ทำงานหนักกว่าเดิม
เนื่องจากพวกเขาซื้อหุ้นไว้มากเกินไป เล่นหุ้นหลายตลาดที่มีความซับซ้อน แตกต่างกันไป เพราะความที่พวกเขาต้องการหาโอกาสเพื่อทำกำไรกับทุกตลาดทุกเวลา เมื่อไม่มีการโฟกัสสิ่งที่เขาต้องดูแลรับผิดชอบจึงมีมากเกินไป ในที่สุดเมื่อตลาดพัง เขาก็ไม่สามารถที่จะไปดูแลและแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาไขว่คว้านั้นมันเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป

ประโยชน์ของ FOMO
ข้อดีของมันก็คือมักจะเป็นสัญญาณของความหิวกระหายที่จะประสบความสำเร็จอันจะช่วยให้ตัวเขาสามารถขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้า  แต่อย่างไรก็ตาม, บ่อยครั้งการที่พวกเขารีบเกินไป ก็จะมักจะลืมใส่ใจในความเสี่ยง แทนที่เขาจะประสบความสำเร็จกลับกลายต้องกลับมาเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวที่ตัวเองทำไว้ตลอด แม้จะได้กำไรมาบ้าง ก็ต้องเอาไปเกลี่ย ไปลบล้างความเสียหายที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ กลายเป็นว่าเขาไม่มีกำไรเหลืออยู่เลย เสียเวลาเปล่า คนที่รวยก็คือมาร์เก็ตติ้งของเขานั่นเอง

FOMO เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์
ความกลัวตกรถนั้น มันเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ซึ่งเป็นผลมาจากทัศนคติที่มีให้เลือกหลายทางแต่ไม่ชัดเจน คนส่วนใหญ่ก็มีอาการ FOMO ในระดับหนึ่งแต่ถ้าหากว่าพวกเขามีแรงผลักดันที่แข็งแรง(เช่นขาดทุนต่อเนื่องและอยากเอาคืน หรือร้อนวิชามาก) มันก็จะกลายเป็นตัวกระตุ้นอาการให้รุนแรงมากขึ้น



ขั้นตอนในการเอาชนะ โรค FOMO
ความจริงแล้ว, โรคนี้มันก็ไม่ได้แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจนหรอก แต่ถ้าหากเราสังเกตเห็นว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะเป็น โดยเฉพาะเห็นรูปแบบพฤติกรรมที่ซ้ำๆของตัวเอง คุณก็จำเป็นจะต้องหาแนวทางในการรับมือกับโรคนี้ คือ
๑) กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของตัวเองใหม่
กับหลายคน, แรงผลักดันสู่ความสำเร็จ อาจจะไม่ได้เป็นแรงกระตุ้นหลักของพวกเขา แต่กลับกลายเป็นการขับเคลื่อนในทางลบ  ดังนั้นถ้าหากคุณมีเป้าหมายเชิงลบที่รุนแรงกว่า คุณก็ต้องตั้งกรอบใหม่ คือจากเดิมที่ เป้าหมายในทางบวก = ฉันต้องการประสบความสำเร็จ เป้าหมายในทางลบ = ฉันไม่ต้องการให้เรื่องนี้(ขาดทุนหนัก)เกิดขึ้น คุณเคยให้ "ฉันประสบความสำเร็จ" นำ แล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรลองเปลี่ยนให้ "ฉันไม่ต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้น" นำแทน แต่อย่างไรก็ตามก็ควรดำรงเป้าหมายในเชิงบวกไว้ แต่เลื่อนมันไปเป็นเป้าหมายหลักในระยะยาวแทน ส่วนระยะสั้นนั้น เน้น ไม่ต้องการขาดทุน ไว้ก่อน

๒) ตระหนักรู้
มันเป็นไปได้ที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็น FOMO ซึ่งมันก็มีหลายระดับ ตั้งแต่การเทรด(ทั้งระยะสั้นและระยะยาว) การวางกลยุทธ์ และอาชีพ ถ้าหากใครได้เป็นแล้วมันจะส่งผลกระทบไปยังคนรอบข้างของเขาด้วย แน่นอนว่าต้องรวมถึงพอร์ตการลงทุนของตัวเองเช่นกัน
ดังนั้นถ้าหากเราสามารถรับรู้ว่าตัวเองเป็นอาการแบบนี้ หากรู้เท่าทัน และสามารถรับมือกับมันได้ทันเวลา มันก็จะไม่ลุกลามทำให้เรื่องราวมันใหญ่โต

๓) จัดลำดับความสำคัญ
ควรพัฒนาความสามารถ และทักษะในการปรับตัว การเลือกผลลัพธ์ และจัดลำดับความปรารถนาต่างๆให้พอดีและรัดกุมต่อบุคลิคและทรัพยากรของตนเอง



๔) มีเป้าหมายและโฟกัส
ความตั้งใจ ความสนใจ ความมุ่งมั่น คือตัวช่วยที่จะผลักดันให้ใครสักคนบรรลุเป้าหมาย
ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถรักษาสมดุลและพัฒนาคุณภาพทางจิตใจไปด้วย

๕) พัฒนาทักษะในการโฟกัสหลายๆอย่างได้ในช่วงเวลาเดียว
พยายามพัฒนาการเรียนรู้และการจัดการ ให้สามารถทำงานในแบบที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้ แน่นอนว่าคุณต้องมีความหลงไหลด้วย ไม่งั้นไปไม่รอดแน่ แต่จงรู้ไว้เถอะว่า ถ้าคุณสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน ทำกิจกรรมต่างๆที่มีส่วนที่แตกต่างกัน สามารถตัด/เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ คุณก็จะมีความได้เปรียบกว่าคนอื่น
พูดง่ายๆคือคุณต้องเรียนรู้วิธีการทำเยอะแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพให้ได้

๖) มองภาพรวม
บ่อยครั้งมากที่การไม่มองภาพรวม มักจะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพทางอารมณ์ลดลง
มันเป็นสิ่งจำเป็นของนักเทรดที่จะต้องทราบว่า
- ตลาดยังคงเคลื่อนไหวต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องมีคุณเข้าร่วม
- นักเทรดไม่สามารถที่จะเข้าซื้อและขายออกในระดับราคาที่ดีที่สุด เพราะตลาดมักจะวิ่งสวนทางพวกเขาเสมอ
- นักเทรดไม่สามารถที่จะเทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา เนื่องจาก
๑) พวกเขามีระดับกำลังงานและความสามารถในการควบคุมจิตใจที่จำกัด
๒) ประสิทธิภาพในการทำงานของเขาไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลา ยิ่งเขาทำมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้สภาพจิตใจเหนื่อยล้าตามไปด้วย
๓) ยังมีโอกาสมากมายรอคอยอยู่ในอนาคต การพลาดแค่ครั้งสองครั้งในตอนนี้ มันไม่ใช่จุดจบของโลก จงยอมรับสภาพและก็ทำตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับโอกาสใหม่ที่ไกล้จะมาถึง

ที่มา http://traderbehaviour.blogspot.com/2013/06/v-behaviorurldefaultvmlo.html



Avoid FOMO! Why Do Traders Jump In Early And Make Mistakes?

เริ่มต้นจากที่มาของอาการ FOMO

๑) ขาดความอดทน
เมื่อคุณไม่มีระบบ ไร้แผน หรือประสบการณ์ และที่สำคัญคือไร้ความอดทน ก็มักจะต้องหลงไปกับการวิ่งแรงๆของราคา จนอดใจตามหรือเข้าร่วมไม่ได้

๒) ไม่มีมุมมองในระยะยาว(อยากรวยเร็ว)
คุณไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักรู้ว่าในอนาคตมันก็จะมีโอกาสใหม่ๆ สวยๆแบบนี้มาให้อีก เมื่อคิดได้แค่ว่านี่เป็นโอกาสสุดท้าย โอกาสดีที่สุดที่จะทำเงิน อีกอย่างที่สำคัญคือคุณต้องการรวยทันทีกับโอกาสนี้ (ซึ่งคนที่คิดได้แบบนี้มักจะเป็นมือใหม่ที่อ่อนต่อโลก) ตลาดก็จะให้บทเรียนต่อคุณอย่างสาสม

๓) ความคาดหวังสูง(โลภเกินความรู้)
เป็นอาการของคนร้อนเงินครับ แม้คุณจะมีเงินเย็น แต่ถ้าหากใจคุณร้อนเงิน ก็สามารถเผาเงินเก็บของคุณให้วายวอดได้ครับ แน่นอนว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นมือใหม่โลกสวยที่ต้องการปั้นพอร์ตให้โตเป็นสองเท่าในเวลาเดือนเดียว(เพราะเห็นกูรูอวดกำไร หรือทำคลิปยั่วใจ) แต่เชื่อเถอะว่า ตลาดมีความยุติธรรมมากครับ ใครทะเล่อทะล่า ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เข้ามาเทรดเพราะหวังแจ๊ตพ็อต มักจะหมดตัวไวกว่าใครเพื่อน



๔) ไม่มีกฎการเทรด
เมื่อคุณไม่มีระบบหรือกฎของตนเองในการสกรีนหุ้นที่เหมาะกับตัวเอง จากนั้น FOMO จะเข้ามาเล่นงานคุณ ผลก็คือคุณมักจะกระโดดเข้าซื้อตัวโน้น ขายตัวนี้ โดยที่ไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

๕) ขาดความมั่นใจ
อาการนี้มักจะเกิดหลังจากที่เทรดขาดทุนไปเยอะ พูดง่ายๆคือรู้สึกตัวว่าเสียเยอะเกินไปแล้ว เริ่มหัวร้อน  ทำให้เทรดเดอร์จำนวนมากจะพยายามจับตาดูแล้วเข้าเทรดแบบสุ่ม และหวังว่ามันจะสร้างผลกำไรให้เขาได้ พอขาดทุนเยอะ หรือหลายครั้งติดต่อกัน พวกเขาเริ่มหน้ามืด อยากเอาคืน เริ่มใช้อารมณ์มากกว่าสติ ผลก็คือไล่ซื้อ หรือไล่ขายหุ้น ไปอย่างสะเปะสะปะ เสียคนไปเลย

๖) ความเชื่อมั่นเกินเหตุ (Overconfidence)
ตรงข้ามกับข้อที่แล้ว เมื่อคุณเทรดได้กำไรก้อนใหญ่แล้ว ก็ชักจะฮึกเหิม หลังจากที่เอาเรื่องของตัวเองไปโพสต์ที่พันทิพแล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวใหญ่ใหญ่คับฟ้า เก่งที่สุดในสามโลก หูตาก็เริ่มมืดมัว คิดว่าเราเป็นเซียนแล้ว เก่งกว่าตลาด จิ้มตัวไหนก็ขึ้น ทำให้คุณมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างที่จำเป็นไป นั่นแหละครับ เมื่อคุณไม่ละเอียด ตลาดก็จะใช้จังหวะนี้เอาเงินคืนกลับไปจนหมด

ผมเคยซื้อหุ้นต่ำบาทมาตรฐานต่ำตม แล้วได้กำไร จึงรู้สึกว่าตัวเก่งมาก เอาเงินไปเล่นหุ้นประเภทนี้อีก ด้วยความมั่นใจว่าเอาอยู่ ผลก็คือตัวต่อมาผมขาดทุนเละเทะ เพราะหุ้นหลายตัวที่ผมเล่นนั้นประสบความล้มละลาย ต้องเพิ่มทุนหลายรอบ ในที่สุดก็ไม่ไหวต้องให้ออกจากตลาดไป นี่แหละครับความโหดร้ายของตลาด ดังนั้นอย่าเหลิง เมื่อเหลิง คุณจะไม่รอบคอบ พอไม่รอบคอบ ตลาดก็เอาคืนอย่างสาสม

ที่มา https://www.tradeciety.com/fomo-trading-tips/

นี่เป็นคำพูดติดปากของคนเป็นโรค FOMO ครับ
I knew it : "ฉันรู้ดี" เป็นคำพูดของคนที่มีแผนการเทรด แต่ไม่เคยทำตามแผน
One time : "ครั้งเดียวเอง" คิดจะเล่นสนุกๆ แล้วตลาดก็เล่นด้วย อ่วมสิ
I just enter with a small position : "ฉันซื้อไม่เยอะ" คือคนที่อยากละเมิดกฎตัวเอง
I have a feeling : "ฉันรู้สึกว่าต้องใช่ตัวนี้" พวกนี้เล่นหุ้นเหมือนแทงหวย
It still has room to go : "มันยังไปได้อีก" มักจะคิดรันเทรนด์ในเวฟ 5 หรือเจอ false breakout
I waited so long for this trade : "ฉันรอโอกาสแบบนี้มานานแล้ว" เป็นพวกคันคะเยอ เงินเหลือเยอะ
Not this time :  "ไม่ใช่ตอนนี้หรอกน่า" พวกตกรถมาก่อน แล้วอยากแก้ตัว สุดท้ายก็เจอตลาดแก้ผ้า
I could have made so much money today : "วันนี้ฉันจะทำเงินให้ได้มากที่สุด" พวกโลภไม่รู้จักพอ เป็นอาการ overconfidence สุดท้ายก็คืนกำไรให้ตลาดหมดสิ้น



เคล็ดลับการเอาชนะโรค FOMO 
๑) มีตัวกรองและกฎ
ก่อนอื่นคุณต้องมีกฎการเทรดของตัวเองเสียก่อน ในระบบจะระบุกฎเฉพาะ สำหรับการเข้าซื้อ ขายตัดขาดทุน ขายทำกำไร รวมถึงการจัดการเงินทุน การบริหารความเสี่ยง

การมีกฎเป็นของตัวเอง จะช่วยตรวจสอบว่าการเคลื่อนไหวของราคานั้นมันเหมาะสำหรับคุณหรือไม่ ซึ่งมันก็จะต้องมีตัวกรองอยู่แล้วว่าทรงที่คุณชอบเป็นแบบไหน pattern ไหนที่คุณทำกำไรได้สูง ถ้าหากทรงไม่ได้ คุณก็ไม่สนใจมันแน่นอน

๒) มีวินัยและเคารพตนเอง
คุณต้องรู้ว่าตอนนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และเข้าใจว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน เรามักจะรู้ดีว่าสิ่งที่เราควรทำคืออะไร แต่เราไม่ได้รักษาสัญญาที่เราบอกกับตัวเอง จึงมักจะหาข้ออ้างเพื่อที่จะไม่ให้ดูไม่ดีในสายตาของคนอื่น แต่ภายในเรารู้ตัวเองเสมอ ว่ากำลังทำผิดพลาดอยู่

คุณต้องเอาชนะสิ่งนี้ และต้องพัฒนาความเคารพของตนเอง เริ่มต้นทำในสิ่งที่คุณรู้ว่าถูกต้อง ตั้งแต่วันนี้ แทนที่จะใช้เวลาไปดูหนังเล่นเกมหรือเล่นโซเชียล คุณก็เอาเวลานั้นมาศึกษาอ่านหนังสือการเทรดเพิ่มเติม หรือเขียนและรีวิวบันทึกการเทรดของคุณ เพื่อที่ให้แน่ใจว่าคุณพร้อมสำหรับการเทรดในวันรุ่งขึ้น คุณต้องพัฒนาทักษะและความรับผิดชอบในระเบียบวินัยของคุณเอง ไม่จำเป็นต้องทำให้หนักหรือหักโหม แค่เริ่มต้นทีละเล็กทีละน้อย และพิสูจน์ตัวเองว่าคุณสามารถทำสิ่งต่างๆที่คุณรู้ว่ามันถูกต้องก็พอแล้ว



Top 4 Tips For Dealing With FOMO (Fear Of Missing Out!)

คลิปนี้เขาบอกวิธีการรับมือกับ FOMO ไว้ว่า
๑) Make a firm decision : ตัดสินใจแน่วแน่ ว่าไม่ตาม
ทำใจให้นิ่งไว้ นั่งทับมือ อย่าไปหลงกับมัน คิดว่ามันวิ่งมากไกลแล้ว เข้าซื้อตอนนี้มีโอกาสดอยสูงมาก เสี่ยงมากเกินไป

๒) Come up with the plan to enter : มีแผนการเข้าเทรดเอาไว้แล้ว
เช่น แม้ไม่ได้ตามตอนนี้ ก็สามารถวางแผนรอตอนมันย่อ ถ้าเป็นแบบนี้ฉันจะเข้าซื้อที่ราคาโซนนี้ เป็นต้น ถ้าเรามีแผนเตรียมรับมือ ก็จะทำให้เราทำใจไม่ให้เสียดายโอกาสครั้งนี้ไปได้

๓) Come up with the plan to not miss the next : วิเคราะห์ เรียนรู้ว่า ทำไมเราถึงได้พลาดตัวนี้ไป
โดยอาจจะดู pattern ที่มันทำ, ข่าวหรือสิ่งแวดล้อม, อินดิเคเตอร์ ที่สนับสนุนให้เห็นว่ามันเป็นตัวจุดประกายให้ราคาวิ่ง เราจะได้เก็บเป็นข้อมูลไว้สแกนหาโอกาสในครั้งต่อไป

๔) Accept you need to miss many : ยอมรับว่าความผิดพลาดแบบนี้มันเป็นเรื่องปกติ
ยอมรับว่าตัวเองเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ไม่มีสายตาทิพย์เหมือนกูรูหุ้นทั้งหลาย ที่ปิดตลาดออกมาชี้โป๊ะชี้เป๊ะ ถูกทุกตัว เราเป็นเม่าที่รู้เท่าที่เห็น เห็นเท่าที่กรอบสายตาของเราให้ความสนใจ ดังนั้น มันต้องมีหุ้นซิ่งเล็ดลอดสายตาเราไปบ้างแหละ การยอมรับสภาพหรือรู้จักตัวเองให้ได้ ถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของมืออาชีพ(ที่เขาเทรดจริง)ครับ เมื่อคุณรับสภาาพได้ คุณก็จะบอกตัวเองว่า โอเคครั้งนี้ฉันพลาดทรงแบบนี้ แต่ฉันบันทึกทรง,ที่มาที่ไป ของแกไว้หมดแล้ว คราวหน้าอย่าให้เจออีก ฉันได้กำไรจากทรงนี้แน่




แนวทางจัดการกับความรู้สึกกลัวตกรถ (FOMO)
ผมได้ยินเพื่อนๆนักเทรดพูดกันบ่อยๆว่า "วันนี้พลาดหุ้น x เห็นแล้วล่ะว่ามันน่าจะวิ่งแน่ แต่ไม่ได้เข้า
ถ้าฉันซื้อตามไปตอนนั้นนะ ป่านนี้กำไรไปเป็นหมื่นแล้ว"

บอกเลยว่านี่เป็นคำพูดของนักเทรดที่มีความบกพร่องทางวิธีคิด ซึ่งมันมักจะนำพาพวกเขาให้หลวมตัวเข้าซื้อหุ้นผิดจังหวะในครั้งต่อไป ซึ่งจะนำพาความเสียหายมาสู่พอร์ตของเขาอย่างมาก

การเทรดเป็นเกมทางจิตวิทยา ถ้าคุณอยากชนะ คุณต้องคิดให้ได้แบบกลุ่มเทรดเดอร์ระดับสูงผูประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการอารมณ์ของคุณเองภายใต้สภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าคุณปล่อยให้อารมณ์เข้ามาอยู่เหนือเหตุผลคุณก็มีโอกาสที่จะเสียเงินอย่างมาก

ลองย้อนกลับไปจำลองเหตุการณ์ตอนที่คุณพลาดซื้อหุ้นตัวที่คุณบอกว่าถ้าซื้อแล้วจะได้กำไรไปเป็นหมื่นนั้น คุณจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์อย่างไรบ้าง
๑) ฉันทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ต้องรีบซื้อ (เป็นอาการหลีกเลี่ยงความรู้สึกเจ็บปวดจากความผิดพลาด แต่ก็หน้ามืด ลืมมองว่าตอนนี้มันขึ้นไปถึงโซนสูงสุดของการเคลื่อนไหวแล้วหรือยัง)

๒) หลังจากที่เข้าไปแล้ว มีหุ้นแล้ว จากนั้นมันวิ่งขึ้นต่อไปอีกนิด แต่พระเจ้า..มันกลับตัวแรงจนทำให้ฉันขาดทุน แต่ฉันจะไม่หลงกลแกหรอก นี่เป็นเกมเขย่าเอาของแน่ๆ ย่อพักเดียว เดี๋ยวก็ดีดกลับ เชื่อสิ กราฟหุ้นผู้ชนะส่วนใหญ่มักเป็นแบบนี้ (ยินดีด้วย จินตนาการของคุณสูงมาก เขียนนิยายได้เลยนะเนี่ย)

๓) จากนั้นราคาก็ร่วงต่อ ฉันขาดทุนไปแล้ว 10% แต่ไม่ยอมแพ้การเขย่าครั้งนี้หรอก ลองดูสิว่าจะลงไปได้ขนาดไหน ถึง 30% เลยมั้ย ฉันจะได้ขนเงินก้อนใหญ่มาถัว จะได้มีทุนที่ต่ำลง พอไปถึงแค่ไฮเดิม กำไรงามเลยเรา (เอ่อ...ไปเอาความมั่นใจจากไหนครับ)

นี่คือปัญหาใหญ่และเป็นขาประจำสำหรับนักเทรดหน้าใหม่ทุกคนที่จะต้องเผชิญกับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีประสบการณ์ในการเทรดน้อยเหลือเกิน อ่านหนังสือเยอะแต่ไม่ได้ลงมือเทรดจริงจัง



พวกเขาไม่เคยเข้าใจว่า ความกลัวตกรถนั้นมันเป็นเพียงแค่ความกลัวเท่านั้นเองมันยังไม่สร้างความเสียหายตราบใดที่เขายังไม่ได้ลงเงินไปกับมัน ถ้ายังไม่ได้ซื้อหุ้นคุณก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของราคานั้น โอเค...คุณอาจจะพลาดมันถ้ามันวิ่งขึ้นแรงจริง แต่คุณรู้ได้ยังไงว่าหุ้นที่คุณกำลังจะซื้อนั้นมันอาจจะแค่ false breakout เท่านั้นก็ได้
จำไว้เลยว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไม่ละเอียดรอบคอบพอ ตลาดก็พร้อมที่จะลงโทษคุณได้เสมอ

การที่คุณยังไม่ได้ซื้อหุ้นที่รู้สึกว่าตกรถ เงินในบัญชีของคุณก็ยังคงเดิม มันสามารถเป็นประโยชน์ได้สำหรับการใช้โอกาสทำกำไรในวันพรุ่งนี้ และวันต่อไปได้ เพราะว่าตลาดหุ้นมันมีโอกาสให้เสมอ จากการเคลื่อนไหวของมัน ขึ้นอยู่กับว่าเราทำการบ้านมาหรือเปล่า

ถ้าคุณทำการบ้านมากพอคุณก็จะมีแผนในการเข้าเทรดที่รัดกุม ซึ่งนั่นจะช่วยให้คุณสามารถดูแลและรับผิดชอบเงินต้นของคุณได้ดี มากกว่าการเข้าซื้อเพราะความกลัวตกรถในวันนี้

พวกเราทุกคนที่เข้ามาเทรดก็เพื่อสร้างกำไรกันทั้งนั้น แต่การให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าขาดทุนนั้นเป็นสิ่งที่เทรดเดอร์หน้าใหม่โลกสวยเท่านั้นที่คิดกัน  จำไว้เลยว่า ขณะที่มือสมัครเล่นกระสันกำไร แต่มืออาชีพโฟกัสความเสี่ยงก่อน มืออาชีพเขารู้ว่าผลกำไรเป็นเพียงผลพลอยได้จากการบริหารความเสี่ยงที่ดี ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ตลาดในแง่ของความเสี่ยง คุณก็จะได้รับผลกระทบน้อยลงจากการเคลื่อนไหวของราคาแบบสุ่ม

ดังนั้นจงมุ่งเน้นมุ่งเน้นคัดเลือกเฉพาะโอกาสที่คุณพบว่ามีความเสี่ยงน้อย ซึ่งเกิดจากการที่คุณได้มีการเตรียมตัวสำหรับทางหนีทีไล่ไว้ก่อนเสมอ อย่าหวังลาภลอย เพราะสิ่งที่ได้มาง่ายๆก็มักจะคืนกลับไปอย่างง่ายๆเช่นกัน

ที่มา https://www.smbtraining.com/blog/addressing-the-traders-fear-of-missing-out

คำค้นเพิ่มเติม : จิตวิทยาการเทรด, จิตวิทยาเทรดเดอร์, จิตวิทยาการลงทุน, จิตวิทยากับการลงทุน, หลักจิตวิทยาการลงทุน, พฤติกรรมและจิตวิทยาการลงทุน, จิตวิทยาการเทรด, จิตวิทยาการลงทุนให้ไดกำไร




(แนะนำเพิ่มเติม ของฟรี)
หากต้องการศึกษาวิธีเล่นหุ้น แนะนำให้ไปอ่านบทความฟรี คลิปฟรีที่นี่ก่อนก็ได้
เรียนเล่นหุ้น เรียนเทรด forex จิตวิทยาการเทรด มือใหม่เล่นหุ้น
คลิกลิ้งนี้ครับ https://www.zyo71.com/p/index.html เป็นสารบัญเว็บนี้ครับ






และ eBook มีขายที่เว็บ https://www.mebmarket.com/index.php?action=search_book&type=author_name&search=เซียว%20จับอิดนึ้ง&exact_keyword=1&page_no=1
แยกส่วนกันนะครับ ขายคนละเจ้า
ebook หนังสือสอนเล่นหุ้น

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

ชมฟรี! คอร์สหุ้น ออนไลน์ 170 คลิป จัดเต็ม ไม่มีกั๊ก Free Full Trading Course by Zyo

ดูยังไงว่าเป็น Cup with Handle pattern?

เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการเทรดหุ้น คุณไม่ต้องรอบรู้ไม่ต้องเก่งทุกเรื่องและทุกอย่างหรอก ทำแค่ 7 เรื่องนี้ให้ได้ก็พอ....

อธิบาย Wyckoff Accumulation Phase แบบละเอียดยิบ

วิธีการอ่านสัญญาณแท่งเทียน (Candlesticks Reading) สำหรับมือใหม่